ทำไมในบ้านเรากลับไม่มีการเรียนกัน? ผมมองแบบนี้นะครับ เรื่องของเทคโนโลยีของต่างชาติก็ต้องยอมรับกันว่าเค้าคิดค้น และพัฒนามาก่อนเรา ตอนนี้ถ้าจะมองกันจริงๆ คนไทยเรายังเป็นแค่ผู้ใช้งานเฉยๆ
คงอาจจะต้องใช้เวลาและบุคคลากรที่มีคุณภาพกว่าจะนำพาคนของเราไปถึงขั้นนักพัฒนาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคำอธิบายในส่วนนี้สามารถนำเอามาตอบคำถาม
ในข้อนี้ได้ เพราะในเมืองนอกเอง โดยเฉพาะในวงการสถาปัตยกรรม โปรแกรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ Grasshopper ก็เพิ่งเกิดมาได้ไม่ถึง 3-5 ปี
ซึ่งก็ยังเป็นเวลาที่น้อยมากสำหรับมหาวิทยาลัยของประเทศเรา ที่จะนำมาปรับเป็นหนึ่งในหลักสูตรหลักเอาไว้สำหรับสอนนักศึกษา ดังนั้นบ้านเราก็เลยยังไม่มีโอกาสได้
ศึกษากันอย่างจริงจังครับ เพราะจากประสบการ์ณยังมีอาจารย์ในภาควิชาออกแบบที่มีความรู้เรื่องพวกนี้น้อยมาก และเนื่องจากเป็นสาขาที่ไม่คุ้นเคย เลยไม่ได้รับความสนใจ
ไปโดยปริยาย ผมเองได้ไปสอนเกี่ยวกับเรื่องของ Parameteric Modeling อยู่แค่ที่ ป.โท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แค่ครั้งเดียวเท่านั้น
ซึ่งเป็น Workshop พิเศษที่จัดขึ้นในวิชา Experimental Design (ปี 2554 นี้น่าจะมีอีกช่วงเดือน พฤษภาคม) คือคงต้องใช้เวลาอีกซักพักละครับ
กว่าที่ไทยจะมีให้เรียนกัน แต่ตอนนี้เข้ามาที่ Forum นี้ก็ได้นะครับได้ความรู้เหมือนกัน (เฮ)
เรียนไปทำไมสำคัญขนาดไหนลองนึกภาพตามผมนะครับ เมื่อประมาณหลายสิบกว่าปีที่แล้ว นึกถึงตอนที่คอมพิวเตอร์ยังไม่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตและการทำงานของพวกเรามากมายขนาดนี้
คุณกับผมก็น่าจะยังเขียนแบบด้วย โต๊ะเขียนแบบ กระดาษไข ก้ามปู สามเหลี่ยม และไม้ทีอยู่ในโต๊ะเอียงๆที่มุมห้องใช่มั๊ยครับ ลองนึกว่าถ้าคุณอาศัยอยู่ในช่วงเวลานั้น
แล้วจู่ๆมีคนที่ชื่อ Pattosan มาแจกใบปลิวที่หน้าบ้านคุณแล้วชักชวนให้คุณมาเข้าชมรมเรียนเกี่ยวกับโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ตัวนึงที่ชื่อ AuotoCAD หรือ
3D Max คุณก็อาจจะมีคำถามเดียวกันกับที่คุณมีอยู่ตอนนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่ดีมากนะครับ ว่าเรียนเอาไปทำอะไร และมันมีความสำคัญขนาดไหน?
อย่างแรกเลยคือเรื่องของเวลาครับ Grasshopper และ Parametric Modeling จะทำให้คุณสามารถเอาเวลาจากการทำงานครึ่งหนึ่งไปทำงานอย่างอื่น
ที่สร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์ได้มากกว่าการมานั่งแก้งานในโปรแกรมรุ่นเก่าๆ ซึ่งตรงนี้ถ้าคุณรู้จักจัดการระบบการขึ้นโมเดลของคุณให้ดีๆ และมีวิธีการที่มีความชัดเจน
ผมเองเชื่อว่าคุณจะสามารถประหยัดเวลาในการทำงานไปได้มากเลยทีเดียว ยกตัวอย่างนิดนึงนะครับ มีอยู่ครั้งนึงที่ผมนั่งทำงานอยู่ แล้วกำลังนั่งออกแบบแนวการเดินท่อใน
อาคารทั้งโครงการ ซึ่งผมทำโดยการขึ้นเป็น โมเดล 3 มิติ เพื่อจะได้ทราบว่างานระบบจะไปยังไงมายังไง จะได้ไม่มีปัญหาในกรณีเรื่องเดินระบบท่อมาชนกันในภายหลัง
พอทำเสร็จผมก็พบปัญว่าตอนที่จะซื้อของจะรู้ได้ยังไงว่าจะต้องซื้อท่อขนาดไหน จำนวนเท่าไรมาลงที่โครงการ ซึ่งเรื่องพวกนี้ซับซ้อนนะครับ เพราะท่อน้ำที่ใช้ก็มี
หลากหลายประเภท และแต่ละประเภทก็มีต่างขนาดความหนากัน ถ้าให้มานั่งนับ แล้ววัดตามแบบเอาก็คงใช้เวลานานพอสมควร และอาจจะเกิดความผิดพลาดได้ภายหลัง
ผมเลยเอาข้อมูลของแนวท่อทั้งหมดที่ผมเขียนเอาไว้นั่นละครับ ไปใส่ใน Grasshopper แล้วสร้าง Definition ให้มันคำนวนให้เลยว่า ท่อขนาดไหนมีความยาว
รวมกันทั้งหมดเท่าไร แล้วต้องซื้อกี่ท่อน มีข้อต่อแบบไหนกี่ตัว ผมใช้เวลาทำ Definition ประมาณ ครึ่งชั่วโมง ก็สามารถหาคำตอบทั้งหมดได้ แทนที่ผมจะต้องมานั่ง
นับด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะใช้เวลามากมายกว่านี้หลายเท่า (อันนี้ประสบการ์ณส่วนตัวเล็กๆน้อยๆนะครับ คนอื่นอาจจะมีวิธีการที่ดีกว่าในการนับ และคำนวนท่อ แต่บังเอิญผมใช้
Grasshopper ทำเลยอยากยกมาเป็นตัวอย่าง)
ส่วนประโยชน์อย่างที่สอง ก่อนอื่นผมอยากจะยกคำพูดนึงของใครซักคน ที่ผมอ่านเจอในหนังสือฝรั่งเล่มนึง เค้าเขียนประมาณว่า
"สถาปนิกวาดในสิ่งที่ตัวเองสร้าง และสร้างในสิ่งที่ตัวเองวาดขึ้นมา"
งงๆ นะครับ ผมเดาเอาว่ามันหมายความถึง สถาปนิกหรือนักออกแบบมักจะวาดในสิ่งที่ตนคุ้นเคย หรือสิ่งที่ตนเองเข้าใจในวิธีการสร้างมันขึ้นมา และจะสามารถสร้างในสิ่งที่ตัวเอง
สามารถวาดได้เท่านั้น ซึ่งคำว่าวาดในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงภาพวาดอะไรก็ได้นะครับ แต่ผมว่ามันหมายความถึงภาพวาดในลักษณะของ Shop Drawing ซึ่งเป็นแบบ
ละเอียดของจริง ที่มีขนาดกำหนดและวิธีการทำงานอย่างชัดเจน และสามารถเอาไปทำงานโปรดักชั่นขั้นสุดท้าย หรือเอาไว้สื่อสารกับคนที่จะช่วยเราสร้างสิ่งก่อสร้างนั้นๆ
ให้เป็นความจริงขึ้นมาได้ จากประสบการ์ณของผมเอง ถ้าคุณเข้าใจวิธีการทำงานกับโปรแกรมตัวนี้จริงๆ ผมให้สัญญาเลยว่าคุณจะสามารถ "วาด" และ "สร้าง"
รูปทรงอะไรในโลกที่คุณต้องการได้ทุกอย่าง และเป็นการทำไปด้วยตรรกะ และเหตุผลกระบวนการที่ชัดเจนด้วยนะครับ ไม่ใช่เดาสุ่มๆเอา
ทีนี้ลองหันกลับมามองในฐานะของนักออกแบบกันดูนะครับ ว่าการออกแบบอะไรซักอย่างมันปฎิเสธไม่ได้ว่ารูปทรงมีส่วนสำคัญขนาดไหน การสร้างรูปทรงในงานออกแบบ
ซักชิ้นผมเองมองว่ามันเป็นการตอบปัญหาหลายๆปัญหาด้วยผลลัพธ์อย่างเดียวที่จับต้องได้ ซึ่งมันเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีความลึกซึ้งมากๆ แต่ปัญหาตอนนี้คือถ้าคุณยังไม่
สามารถจินตนาการรูปทรงอื่นๆมาตอบปัญหาใหม่ๆได้ สิ่งที่คุณทำก็จะเริ่มซ้ำซากและเวียนวนอยู่ที่เดิม แต่ถ้าคุณมาลองทำความเข้าใจในส่วนนี้มันก็เหมือนเป็นการติดอาวุธ
ให้คุณอีกระดับนั่นละครับ ยิ่งคุณมีความเข้าใจในเรื่องของรูปทรงมากเท่าไร ผมว่าคุณก็จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่คุณออกแบบ และผู้ที่ใช้มันได้อย่างลึกซึ้ง
มากขึ้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้นผมว่าปัญหาของการตัดสินใจว่าจะเข้ามาเรียนรู้ในเรื่องของ Parametric Modeling นั้นมันเป็นเรื่องของความลุ่มหลงในงานออกแบบ และความอยากพัฒนา
ทักษะในการออกแบบของคุณแล้วละครับ และเป็นเรื่องที่ส่วนตัวมากๆด้วย
ทำโปรเจคด้วย Grasshopper แล้วจะอธิบายงานให้อาจารย์ฟังยังไง?เรื่องนี้อันตราย และมีความละเอียดอ่อนมากครับ นักศึกษาต่างประเทศที่ใช้งานโปรแกรมพวกนี้ได้อยางคล่องแคล่วก็ยังมีปัญหาเรื่องนี้
คืออย่างแรกผมอยากให้คุณปรับความเข้าใจก่อนว่า Grasshopper คือ "เครื่องมือ" และจะเป็นแค่นั้นจริงๆครับ ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่า "งานออกแบบ"
ที่คุณจะสร้างขึ้น ลองนึกภาพกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนนะครับ ถ้าคุณเดินไปพรีเซ็นต์ทีสิสแล้วพูดประมาณว่า
"อาจารย์ครับ งานที่ผมออกแบบขึ้นมาคอนเซปท์คือการ ใช้สีน้ำเบอร์ 25 จุ่มน้ำพอหมาดๆแล้วตวัดสีไปทางซ้าย 3 ซม. หลังจากนั้นก็สลัดสีด้วยพู่กันเบอร์ 25...."
ฟังดูไร้สาระใช่มั๊ยครับ แล้วลองคิดภาพว่าถ้าคุณมานั่งอธิบายวิธีการใช้งาน Grasshopper มาเป็น Concept ในการสร้างงานของคุณแล้วมันจะฟังดูไร้สาระขนาดไหน
เรื่องนี้ฟังดูเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นเส้นที่เบลอมากครับ เบลอมากๆ บางคนนั่งทำงานกับเครื่องมือพวกนี้มากเกินไปจนบางทีหลงลืมไปว่า เนื้องานออกแบบที่แท้จริงนั้นคือ
อะไรกันแน่ ดังนั้นถ้าคุณใช้ Grasshopper ทำงานส่งอาจารย์ ผมแนะนำว่าอย่าไปพูดถึงวิธีการสร้างรูปทรงในโปรแกรมมากนัก คุณอาจจะบอกคร่าวๆพอว่าใช้อะไรทำ
แต่อย่าไปลงลึกถึงรายละเอียดถึงขั้นว่า ทำยังไงใช้ Component ตัวไหน โยงเข้าไปที่ไหน หรือเอา Screenshot ของโปรแกรมไปพรีเซ๊นท์อาจารย์ เพราะคนส่วนใหญ่
นอกจากจะไม่สนใจในสิ่งทีคุณพูดแล้ว พวกเค้าเหล่านั้นอาจจะรู้สึกเหมือนกำลังโดนดูถูกจากอะไรบางอย่างที่ตัวเองไม่เคยรู้จักอีกด้วย
สรุปอีกครั้งนะครับ คือยึดอยู่กับ Concpet ที่เป็นเนื้อหาของงานออกแบบไม่ใช่วิธีการใช้โปรแกรมสร้างงาน อาจจะพูดได้ถ้าจำเป็น แต่ก็ให้กระชับ และเข้าใจง่าย และแสดง
ภาพของผลลัพธ์ให้มากๆเข้าไว้ แล้วเก็บเอากระบวนการไว้กับตัวเราก็พอครับ (ส่วน Process Diagram มันเป็นคนละส่วนกันกับการใช้โปรแกรม คุณอาจจะ
โยงให้เห็นคร่าวๆได้ว่า มันมีตัวแปรสำคัญๆอะไรบ้างที่มีผลกระทบกับงานออกแบบ หรือรูปทรงของคุณ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องละเอียดมาก)
ถ้าสร้างรูปทรงด้วย Grasshopper แล้วจะตัดโมเดลยังไง?ปัจจุบันวิธีการทำโมเดลที่ชาวบ้านทั่วๆไปเข้าถึงได้มีอยู่หลักๆแค่ 2 แบบครับ คือ
1. สั่งปริ๊นท์โมเดลคุณออกมาเป็นวัตถุสามมิติ หรือเทคโนโลยีที่เรียกว่า Rapid Prototyping ด้วยวิธีการนี้คุณจะสามารถสร้างโมเดลได้ตามที่คุณออกแบบใน
คอมพิวเตอร์ทุกอย่าง เหมือนแป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว แต่อาจจะเป็นปัญหาในเรื่องของราคา และขนาดที่ดูไม่เหมาะสมกับ "ราคา" ซักเท่าไรนัก ผมจะไม่ลงลึกในรายละเอียด
การเตรียมไฟล์หรือเรื่องอื่นๆนะครับ ลองไปหาที่ทำดู ในไทยที่ผมรู้จักมีอยู่ที่ Bangkok Code รับทำอยู่ลองไปตกลงเรื่องราคากันดูนะครับ (ผมเข้าใจว่าคิดเป็นชั่วโมง)
ถ้ายังไม่เข้าใจเรื่อง Rapid Prototyping ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมใน Google ดูครับ
2. ใช้กระดาษ กรรไกร คัตเตอร์ และกาว อย่าหาว่าผมกวนตีนนะครับ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งวิธีการที่สองอาจจะต้องใช้กระบวนการในการคิดงานที่มากกว่าวิธีแรกนิด
หน่อย (ซึ่งผมสนับสนุน เพราะผมว่าวิธีการแรกมันดูง่ายเกินไปและละเลยกระบวนการที่ 2 ซึ่งจะเกิดตามมาอยู่ดีถ้างานนั้นต้องมีการก่อสร้างจริงๆ) ซึ่งถ้าคุณสามารถคิดได้
ก็จะทำให้ประหยัดเงินในกระเป๋าคุณได้มาก ลองนึกถึงวิธีการนี้เหมือนกับ Aftershock หลังแผ่นดินไหวนะครับ มันเหมือนกับการคิดงานซ้อนเข้าไปในงานที่เราคิดออก
มาแล้ว ยากกว่าแต่ท้าทาย ซึ่งผมเองก็ตอบคุณไม่ได้หรอกครับว่าคุณจะตัดโมเดลยังไง วิธีการนี้คุณต้องทำการ "ถาม" ตัวเองก่อนที่จะทำงานว่าถ้าทำแล้วมันจะ "สร้าง"
ออกมาได้ยังไง รุ่นพี่ผมที่เคยเรียนที่เดียวกันชื่อ Andrew Kudless เคยทำทีสิสเรื่องเกี่ยวกับการสร้างรูปทรงแบบ Curved Surfaces นี่ละครับแต่ทดลอง
ด้วยวิธีการหลายๆแบบ รูปทรงเดียวกันใช้วิธีการก่อสร้างคนละแบบ วัสดุคนละชนิดก็ให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เหมือนกัน และประสิทธิภาพของโครงสร้างก็ต่างกัน
ในภาพด้านล่างผมเอามาเป็นตัวอย่างนะครับ ผมไม่ได้เป็นคนทำ คนทำชื่อ Andrew Kudless งานที่เห็นเป็นงาน Installation ในนิทรรศการประจำปี
ที่ The Architectural Association School of Architecture หรือ AA ที่ London เมื่อประมาณปี 2003-2004
ผมอยากให้คณสังเกตุว่ากับรูปทรงแบบ Curved Surface ธรรมดาเค้ากลับเอามาทำให้มันไม่ธรรมดาได้ด้วยวิธีการ "ตัดโมเดล" อีกวิธีหนึ่ง คือการนำเอากระดาษ
แบนๆนี่ละครับ แต่ตัดให้มันออกมาเวลาพับแล้วให้เป็นรูปทรงหกเหลี่ยมแบบรังผึ้ง แลัวจัดให้มันอยู่ใน Curvature ที่ต้องการ
[You must be registered and logged in to see this link.]ดังนั้นคุณต้องเป็นคนตอบคำถามนี้ด้วยตัวเองนะครับ ว่าคุณจะรับผิดชอบรูปทรงที่คุณคิดขึ้นมาใน Computer ด้วยวิธีการไหน
แต่ในอนาคตก็เอามาโพสต์ถามขอคำแนะนำกันได้ครับ ว่าถ้ารูปทรงแบบนีจะสร้างด้วยวิธีการแบบนี้จะเป็นไปได้มั๊ย แล้วจะให้ Grasshopper
มาช่วยในการทำงานอย่างไรบ้าง
Grasshopper เกี่ยวกับงาน Construction หรือเปล่า?ที่คุณเข้าใจว่า Grasshopper เป็นการทำงานเกี่ยวกับรูปทรงและโครงสร้าง นั้นเป็นความเข้าใจที่ถูกครึ่งนึงนะครับ เพราะคำว่า "โครงสร้าง" ในที่นี้หมายความถึง
ส่วนประกอบย่อยๆของรูปทรง เช่น จุด, เวคเตอร์(ทิศทาง), เส้น, เส้นโค้ง และระนาบ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถึงแม้ว่าโปรแกรมนี้จะสามารถให้อิสระในการสร้างรูปทรง
แก่คุณได้มากมายไร้ขีดจำกัดขนาดไหน ผมว่านักออกแบบทุกคนก็น่าจะมี Sense ในเรื่องของโครงสร้าง (โครงสร้าง แปลว่าวัตถุที่มาประกอบกันแล้วสามารถตั้งอยู่
ได้ด้วยตัวเอง) เอาไว้บ้าง น่าจะดีกว่าไม่ใส่ใจเรื่องนี้ แล้วปล่อยให้วิศวกรเป็นคนรับผิดชอบคนเดียว
ดังนั้นสรุปได้ว่าไม่เกี่ยวเท่าไรครับ แต่ตอนออกแบบนึกเรื่อง Structure เอาไว้บ้างก็ดีครับ
ขอบคุณที่ถามนะครับ
Your Admin.
ปล. ผมจบ ป.ตรี ที่คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยศิลปากรครับ แล้วก็ไปต่อ ป.โท ที่นอกเมืองมาตามที่คุณเดาละครับ